ยินดีต้อนรับสู่เว็บบล็อกชนรดา ผู้เข้าชมสามารถเข้าชมสาระนารู้มากมายเกี่ยวกับการนำเสนอภาพกิจกรรม

วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2554

สื่อการสอนประเภทโสตทัศนูปกรณ์
Type of Audio Visual Equipments

****************************************************

ทราบกันดีแล้วว่านักเทคโนโลยีการศึกษาได้จัดแบ่งประเภทของ สื่อการศึกษา แบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. ประเภทวัสดุ (Material or Software) ประกอบไปด้วย
• วัสดุที่เสนอได้ด้วยตัวมันเอง
• วัสดุที่ต้องอาศัยอุปกรณ์ เครื่องมืออื่นเป็นตัวนำเสนอ
2. ประเภทเครื่องมือหรือโสตทัศนูปกรณ์ (Device or Hardware) และนักเทคโนโลยีการศึกษา ยังได้จัดจำแนกโสตทัศนูปกรณ์ออกไปอีกเป็น 3 ประเภทคือ
1. โสตทัศนูปกรณ์ประเภทเครื่องเสียง
2. โสตทัศนูปกรณ์ประเภทเครื่องฉาย
3. โสตทัศนูปกรณ์ประเภทการรองรับ การบันทึก การจัดแสดง
3. ประเภทเทคนิคหรือวิธีการ (Technique or Method)
1. โสตทัศนูปกรณ์ประเภทเครื่องเสียง นับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งในการสื่อสาร จากผู้ถ่ายทอดสารไปยังผู้รับสาร หรือจากสื่อที่ใช้เสียงในการเรียนรู้ ทำให้ผู้ฟังได้ยินเสียงอย่างชัดเจนดียิ่งขึ้นกว่าการพูดธรรมดา และยังเป็นสิ่งกระตุ้นความสนใจที่ช่วยให้ผู้เรียนหรือผู้รับสารเข้าใจเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น
ความหมายของเครื่องเสียง เครื่องเสียงเป็นอุปกรณ์ที่เป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดเนื้อหาประเภทเสียงจากมนุษย์และแหล่งกำเนิดเสียงต่างๆ ให้ดังมากขึ้นเพื่อให้ได้ระยะทางในการได้ยิน โดยมีองค์ประกอบหลักคือ ภาครับ ภาคขยาย และภาคส่งออก ซึ่งเป็นระบบการเพิ่มกำลังความดังของเสียงให้ชัดเจนและกว้างไกลมากขึ้น
ความสำคัญของ “เครื่องเสียง” เสียงคนเราโดยปกติมีความดังประมาณ 60 เดซิเบล เท่านั้น และเสียงก็ไม่สามารถขยายให้ดังขึ้นหรือเก็บรักษารูปคลื่นไว้ได้ แต่เครื่องขยายเสียงสามารถเปลี่ยนเป็นคลื่นไฟฟ้าได้โดยการอาศัยทฤษฎีการเหนี่ยวนำของสนามแม่เหล็กผ่านขดลวด เครื่องเสียงจึงมีความสำคัญในการเป็นสื่อกลางของการเพิ่มความดังของเสียง เช่น เสียงจากการบรรยาย การเรียนการสอน รวมถึงแหล่งกำเนิดเสียงต่างๆ ด้วย
หลักการทำงานของเครื่องเสียง การเพิ่มความดังของเสียงให้สามารถได้ยินได้ฟังกันอย่างทั่วถึง มีองค์ประกอบแบ่งออกเป็น 3 ภาคได้แก่
1. ภาคสัญญาณเข้า (Input Signal) ภาคที่เปลี่ยนคลื่นเสียงธรรมชาติให้เป็นพลังงานไฟฟ้าความถี่เสียง ได้แก่ Microphone, CD player, Cassette tape, etc., เป็นต้น
2. ภาคขยายสัญญาณ (Amplifier) ทำหน้าที่รับสัญญาณไฟฟ้าความถี่เสียงมาขยายให้มีกำลังแรงมากขึ้น โดยไม่ผิดเพี้ยนจากแหล่งกำเนิดเสียง ได้แก่ เครื่องขยายเสียงประเภทต่างๆ หรืออุปกรณ์ที่บรรจุภาคขยายสัญญาณไว้ในตัว เช่น Mini component เป็นต้น
3. ภาคสัญญาณออก (Output Signal) ทำหน้าที่รับสัญญาณไฟฟ้าความถี่เสียง ที่ได้รับการขยายแล้วมาเปลี่ยนเป็นคลื่นเสียงธรรมชาติเหมือนต้นกำเนิดเสียงทุกประการ ได้แก่ ลำโพงชนิดต่างๆ


Slide Projector Opaque Projector
2. โสตทัศนูปกรณ์ประเภทเครื่องฉาย โสตทัศนูปกรณ์ประเภทเครื่องฉายได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดความรู้เนื้อหาสาระเป็นอย่างมาก เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดเนื้อหาบทเรียนประเภทสื่อโสตทัศน์ให้แก่ผู้เรียนหรือผู้ชม ทำให้เห็นสิ่งที่เป็นนามธรรมเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งในลักษณะภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นสิ่งช่วยกระตุ้นความสนใจและช่วยให้เข้าใจเนื้อหาสาระได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น
ความหมายของ “เครื่องฉาย” เครื่องฉายมีลักษณะเป็นอุปกรณ์ (Hardware) เป็นสื่อกลางหรือตัวผ่านในการถ่ายทอดข้อมูลเนื้อหาจากโสตทัศนวัสดุที่ไม่สามารถถ่ายทอดเนื้อหาได้ด้วยตัวเอง ทำให้เนื้อหา ข้อมูลปรากฏขึ้นบนจอรับภาพให้มองเห็นได้
ความสำคัญของเครื่องฉาย สื่อการสอนที่เห็นเป็นรูปธรรมได้แก่สื่อที่เป็นวัสดุและอุปกรณ์ สื่อวัสดุที่สามารถถ่ายทอดด้วยตัวเอง ได้แก่ รูปภาพ ของจริง ของจำลอง ฯลฯ และวัสดุที่ไม่สามารถถ่ายทอดได้ด้วยตัวเอง ต้องอาศัยอุปกรณ์ช่วยให้เนื้อหาที่บรรจุอยู่ในสื่อวัสดุนั้นปรากฏออกมาให้มองเห็นหรือได้ยิน เช่น แผ่นโปร่งใส ฟิล์มสไลด์ ฟิล์มภาพยนตร์ เทปวีดิทัศน์ ฯลฯ แต่หากเป็นสื่อวัสดุที่บรรจุเนื้อหาประเภทภาพและเสียงแล้ว จำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์ประเภทเครื่องฉายที่ถ่ายทอดเสียงออกทางลำโพง โดยจะช่วยในการขยายขนาดของภาพให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและเห็นได้อย่างชัดเจนทั่วทั้งห้อง ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจได้ง่ายและรวดเร็ว เพิ่มความน่าสนใจรวมถึงมีความสนุกและตื่นเต้นเร้าใจเพิ่มมากขึ้นด้วย
องค์ประกอบในการฉาย
2.1 เครื่องฉาย (Projector) ใช้เป็นอุปกรณ์เครื่องมือในการถ่ายทอดเนื้อหาจากสื่อวัสดุ ปรากฏเป็นภาพหรือเสียงและภาพ ได้แก่ Over Head Projector, Slide Projector, Film Projector เป็นต้น
2.2 โสตทัศนวัสดุ (Materials) เนื่องจากเครื่องฉายจำเป็นต้องใช้ “แสง” ในการฉายภาพ ดังนั้นวัสดุที่ใช้ในการฉายจึงแบ่งออกเป็น 3 ชนิดคือ
2.1 วัสดุโปร่งแสง (Transparency) เป็นวัสดุที่ให้แสงผ่านได้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ แผ่นโปร่งใสที่ใช้กับเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ
2.2 วัสดุกึ่งโปร่งแสง (Translucent) เป็นวัสดุที่ยอมให้แสงผ่านไปได้บ้าง แต่จะกระจายกระจายแสงทำให้ความเข้มลดลงด้วย เช่น ฟิล์มสไลด์ ฟิล์มภาพยนตร์
2.3 วัสดุทึบแสง (Opaque) เป็นวัสดุที่แสงผ่านไม่ได้ เช่น กระดาษ ของจริง ของตัวอย่าง เป็นต้น
วัสดุเหล่านี้จะต้องใช้กับเครื่องฉายที่มีระบบฉายแตกต่างกัน โดยต้องมีการบันทึกข้อมูลที่เป็นตัวอักษร ภาพ หรือภาพและเสียง ลงบนวัสดุนั้นให้เรียบร้อยก่อนนำมาฉาย
2.3 จอรับภาพ (Screen) เป็นจอหรือฉากสำหรับรับภาพที่ฉายมาจากเครื่อง ให้เห็นได้อย่างชัดเจน โดยปกติจะเป็นจอที่มีพื้นผิวเคลือบด้วยวัสดุที่มีคุณสมบัติในการสะท้อนแสงได้ดี แต่หากไม่สามารถหาได้จริงก็อาจใช้ผนังห้องสีขาวเป็นจอรับภาพแทนได

ระบบฉาย เครื่องฉายต่างๆ สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ระบบ
1. ระบบฉายตรง (Direct projection)เป็นการฉายโดยให้แสงผ่านทะลุวัสดุฉายและเลนส์ฉายไปยังจอภาพในแนวเส้นตรง การใส่วัสดุต้องใส่ไว้หลังเลนส์ฉายในลักษณะตั้งฉากกับพื้น เหมือนกับภาพที่ปรากฏบนจอรับภาพ เนื่องจากเลนส์จะกลับภาพภาพที่ฉายออกไปเป็นด้านตรงข้าม ด้วยเหตุนี้จึงต้องใส่วัสดุฉายในลักษณะหัวกลับเสมอ


2. ระบบฉายอ้อม (Indirect Projection) เป็นการฉายโดยให้แสงจากหลอดฉายผ่านขึ้นไปยังเลนส์ฉาย โดยมีการหักเหของลำแสงผ่านวัสดุฉายไปยังจอรับภาพ การใส่วัสดุฉายในระบบฉายอ้อมคือ ต้องวางวัสดุฉายในแนวระนาบบนแท่นเครื่องฉาย โดยหันด้านหน้าขึ้นบนและริมล่างเข้าหาจอ


3. ระบบฉายสะท้อน (Reflected Projection) เป็นการฉายโดยให้หลอดฉายส่องตรงมายังวัสดุฉายก่อนแล้วจึงสะท้อนไปยังกระจกเงา ที่อยู่ด้านบนสุดของเครื่องสะท้อนแสงผ่านไปยังเลนส์ฉาย และส่องแสงปรากฏเป็นภาพบนจอรับภาพ การใส่วัสดุฉายในระบบฉายสะท้อนคือ ต้องวางวัสดุฉายตามลักษณะที่เป็นจริงในแนวระนาบบนแท่นวางของเครื่องฉาย

ภาพจาก สำนักนวัตกรรมการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยขอนแก่น

3. โสตทัศนูปกรณ์ประเภทการจัดแสดง โสตทัศนูปกรณ์ประเภทนี้ ได้แก่ กระดานชอล์ค บอร์ดนิทรรศการ ป้ายนิเทศ บูธจัดนิทรรศการ ใช้ประกอบการนำเสนอเนื้อหาวิชา ด้วยการ ขีด-เขียน ปะติด จัดวาง ประดับตกแต่งให้มีความสวยงามตามความคิดสร้างสรรค์ของผู้จัดทำ สามารถลงรายละเอียดปลีกย่อยในสิ่งที่นำเสนอ ส่วนใหญ่ออกแบบมาให้เคลื่อนย้ายได้ บางชนิดติดตรึงอยู่กับที่ในห้องแสดง เช่น ในห้องเรียน ห้องนิทรรศการชั่วคราว นิทรรศการถาวร พิพิธภัณฑ์ ผู้ชมต้องเดินมาศึกษารายละเอียดด้วยตนเองยังสถานที่จัดแสดง





http://vdo.kku.ac.th/mediacenter/library/library.php?lang=th
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=148850